แมลงหวี่ขาวพาหะเชื้อโรคไวรัสในพืช
แมลงหวี่ขาวพาหะเชื้อโรคไวรัสในพืช

แมลงหวี่ขาว มีปากแบบเจาะดูดและดูดน้ำเลี้ยงภายในเซลล์พืชเหมือนยุงที่ดูดเลือด การเจาะดูดนี้จะทำให้เซลล์พืชเกิดความเสียหาย เซลล์สูญเสียของเหลวจากการเจาะดูดและของเหลวไหลออกสู่ภายนอกเซลล์ เซลล์เจริญพัฒนาผิดปกติ เนื่องจากเซลล์ส่วนที่ถูกเจาะจะชะงักงัน ในขณะที่เซลล์ข้างเคียงเจริญพัฒนาต่อไปได้ จึงทำให้เกิดการบิดงอของใบ
แต่ในแรกทีเดียวใบอาจยังไม่แสดงอาการประเหลือง แถบเหลือง ด่างเหลือง (yellowing), ใบด่าง ด่างเขียว (mosaic), ใบแข็งกระด้าง ใบหนาเล็กไม่ขยาย ใบบิด ปูด หงิกงอ ผลเป็นตะปุ่มตะป่ำ (leaf and fruit deformation), เกิดจุดเนื้อตาย (necrosis) และต้นแคระเกร็น ชะงักการเจริญ (stunting) อาการเหล่านี้จะปรากฏก็ต่อเมื่อแมลงหวี่ขาวที่เข้าทำลายพืชนั้นมีเชื้อไวรัสก่อโรคพืชติดมาด้วย
การติดเชื้อไวรัสของแมลงและสามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปสู่พืช เรียกว่า "แมลงพาหะ" เช่นเดียวกับยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไวรัสไข้เลือดออก
การเป็นพาหะเชื้อไวรัสก่อโรคพืชของแมลงศัตรูพืช เช่น แมลงหวี่ขาว เพลี้ยอ่อน ด้วงเต่าแตง เพลี้ยไฟ หรือไส้เดือนฝอย จะมีลักษณะ 2 ประการ คือ
1. พาหะไวรัสชั่วคราว (nonpersistent) แบ่งออกเป็น 2 แบบ ตามความเร็วในการเป็นพาหะ ได้แก่
1.1 พาหะไวรัสชั่วคราว (nonpersistent) แมลงหวี่ขาวจะติดเชื้อไวรัสอย่างรวดเร็วภายหลังเจาะดูดน้ำเลี้ยงจากพืชที่ติดโรคไวรัส โดยใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีจนถึง 1-2 วินาที และเป็นพาหะไปก่อโรคในพืชต้นอื่นได้ทันที
1.2 พาหะไวรัสกึ่งชั่วคราว (semipersistent) แมลงหวี่ขาวใช้เวลาติดเชื้อนานมากกว่า 1 ชม. แต่การเป็นพาหะถ่ายทอดเชื้อไวรัสจะมีประสิทธิภาพมากกว่า nonpersistent
การติดเชื้อทั้ง 2 ลักษณะนี้ เชื้อไวรัสจะติดอยู่ในส่วนของปากเจาะดูด หลอดอาหารหรือเข้าไปถึงเพียงแค่กระเพาะอาหารส่วนหน้าเท่านั้น หากมีการลอกคราบเพื่อเจริญวัยเชื้อไวรัสจะหมดไปและไม่เป็นพาหะนำโรค
2. พาหะไวรัสถาวร (persistent) แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
2.1 ไม่ถ่ายทอดเชื้อไปสู่แมลงรุ่นถัดไป (nonpropagative) แมลงที่ติดเชื้อแบบพาหะไวรัสถาวร เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะอาหารส่วนกลางของเพลี้ยและเคลื่อนย้ายเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด และเข้าสู่ต่อมน้ำลาย
2.2 ถ่ายทอดเชื้อไปสู่แมลงรุ่นถัดไป (propagative) กรณีเป็นพาหะแบบ propagative เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายของแมลงเช่นเดียวกับ nonpropagative และจะเข้าสู่ส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์ และท่ายทอดเชื้อไวรัสสู่แมลงในรุ่นถัดไปผ่านท่อรังไข่
ส่วนใหญ่ไวรัสเมื่อเข้าสู่ร่างกายของเพลี้ยมักไม่ก่อโรคต่อเพลี้ย แม้จะมีการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส แต่ไวรัสบางชนิดก็อาจสร้างความเสียหายต่อเพลี้ยได้
ไวรัส (virus) มาจากคำว่า "ไวโร (viro หรือ vir)" ซึ่งแปลว่า สารพิษ (poison /toxin) โดยไวรัสชนิดแรกที่ค้นพบคือ ไวรัสโรคใบด่างยาสูบ (Tobacco Mosaic Virus; TMV) ไวรัสเป็นอนุภาคกึ่งสิ่งมีชีวิต และเป็นปรสิตของเซลล์สิ่งมีชีวิตอย่างแท้จริง (obligatory intracellular parasite) เนื่องด้วยอนุภาคของไวรัสไม่มีอวัยวะหรือออร์แกเนลล์ที่ชื่อ ไรโบโซม จึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนไวรัสได้เอง จะต้องอาศัยไรโบโซมของสิ่งมีชีวิตในการสังเคราะห์โปรตีนอนุภาคของไวรัส เนื่องจากไวรัสประกอบขึ้นจากอาร์เอ็นเอสายเดี่ยวหรือสายคู่ (ssRNA /dsRNA) หรือดีเอ็นเอสายเดี่ยวหรือสายคู่ (ssDNA /dsDNA) เท่านั้น มีส่วนห่อหุ้มที่เป็นโปรตีนเรียกว่า "แคพซิด" ก่อให้เกิดรูปร่างของอนุภาคไวรัสเป็นแบบทรงเหลี่ยมหลายด้าน ราว 20 ด้าน (ไอโคซะฮีดรอล : icosahedral) แบบทรงกระบอก (เฮลิคอล : helical) และรูปทรงซับซ้อน (คอมเพล็กซ์ : complex) หากไวรัสมีส่วนห่อหุ้มอีกชั้นทีเรียกว่า "เอนวีลอฟ (envelope)" จะมีหนาม (spikes) จัดเป็นรูปทรงแบบคอมเพล็กซ์
ไวรัสเมื่อเข้าสู่เซลล์พืชได้ จะเข้ายึดไรโบโซมและสั่งการไรโบโซมให้สังเคราะห์สารพันธุกรรมไวรัส ซึ่งทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนขึ้น ไรโบโซมจะสังเคราะห์สารพันธุกรรมและโปรตีนห่อหุ้มของไวรัส เกิดการรวมตัวของโปรตีนและพันธุกรรมเป็นอนุภาคไวรัส ทำให้การสังเคราะห์โปรตีนตามธรรมชาติของพืชผิดปกติ เกิดอาการใบเหลือง ด่าง ใบผิดรูปทรง (mosaic, yellowing และ deformation)
อนุภาคไวรัสจะเคลื่อนตัวออกจากเซลล์หนึ่งและเข้าสู่เซลล์อื่น ไวรัสบางชนิดที่เคลื่อนออกจากเซลล์อาจใช้วิธีแทงทะลุเซลล์ออกมา ซึ่งทำให้เซลล์พืชเสียหายและเกิดอาการเนื้อเยื่อเป็นจุดตาย (necrosis) ปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือยับยั้งเชื้อไวรัส หากพืชแข็งแรงพอและมีภูมิคุ้มกันจะสามารถขับไวรัสออกไปได้ แต่ปกติพืชที่ติดเชื้อไวรัสจะเกิดโรคและทำให้ต้นทรุดโทรม เคยมีการศึกษาการใช้สารเพิ่มภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสในพืช (มะละกอ เพื่อควบคุมโรคไวรัสใบจุดวงแหวน) แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากพืชยังคงมีเชื้อไวรัสในเซลล์และจะเป็นพาหะถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปสู่พืชต้นอื่นๆ ต่อไปได้
นอกจากการติดเชื้อผ่านแมลงพาหะแล้ว การสัมผัสของเหลวจากต้นติดเชื้อแล้วไปสัมผัสต้นอื่น จะเป็นการถ่ายทอดเชื้อไวรัสเช่นกัน เช่น การตัดแต่งกิ่ง ติดตา ทาบกิ่ง ตอนกิ่ง เชื้อไวรัสบางชนิดถ่ายทอดผ่านไปกับเมล็ดพันธุ์และส่วนขยายพันธุ์ การถ่ายทอดเชื้อของไวรัสแต่ละชนิด สามารถถ่ายทอดได้หลายวิธี ทั้งแมลงพาหะ การสัมผัสและส่วนขยายพันธุ์