สัดส่วนปุ๋ย N-P-K ที่เหมาะสมต่อพืช

Thirasak Chuchoet • February 8, 2024
สัดส่วนปุ๋ย N-P-K ที่เหมาะสมต่อพืช..?

    ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของพืชจนถึงให้ผลผลิต พืชไม่ได้ต้องการธาตุอาหารเพียงธาตุใดธาตุหนึ่ง แต่ต้องการทุกธาตุในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ซึ่งสัดส่วนของแต่ละธาตุมีหลักการมาจากการวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารที่พบในพืช โดยการนำส่วนต่างๆ ของพืชไปอบแห้งก่อน (หลักการเดียวกับการวัดเปอร์เซ็นต์แป้งในผลทุเรียน) เราจึงเรียกปริมาณธาตุอาหารที่ตรวจวัดนี้ว่า"ปริมาณธาตุอาหารในน้ำหนักแห้งของพืช"

ธาตุอาหารพืช (ปุ๋ย)

    ธาตุอาหารพืช คือ ธาตุต่างๆ ที่พืชต้องการเพื่อการเจริญเติบโต การได้รับธาตุหนึ่งธาตุใดในปริมาณที่น้อยกว่าความต้องการของพืชจะมีผลโดยตรงต่อพืช ตั้งแต่ขนาดของพืชเล็กผิดปกติ การเจริญเติบโตชะงักงัน ใบบิด ม้วนงอ ใบเหลือง หรือการออกดอก-ติดผลลดลง หากพืชขาดธาตุใดในระดับวิกฤติต่อเนื่องอาจทำให้พืชทรุดโทรมและตายได้ นอกจากการได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอแล้ว การได้รับธาตุอาหารมากเกินไปก็ส่งผลให้เกิดความเป็นพิษต่อพืชเช่นกัน ความเป็นพิษนี้มักเกิดขึ้นได้ง่ายกับธาตุอาหารที่พืชมีความต้องการน้อยหรือธาตุที่พบในพืชน้อย เช่น 
   ฟอสฟอรัส (P)จัดเป็นธาตุอาหารหลัก พบในพืชราว 0.1-0.25% ตัวอย่างปุ๋ยที่อาจก่อให้ใบมีอาการแห้งกร้านและใบเสื่อมอายุเร็ว เช่น 0-52-34, 10-52-17 ที่ใช้พ่นทางใบอัตราสูงๆ (100-150 ก./20 ลิตร) และพ่นต่อเนื่อง

   แมกนีเซียม (Mg) จัดเป็นธาตุอาหารอง พบในพืชราว 0.1-0.2% ตัวอย่างปุ๋ยที่อาจก่อให้ใบมีอาการแห้งกร้านและใบเสื่อมอายุเร็ว เช่น แมกนีเซียมซัลเฟต อัตรา 50-100 ก./20 ลิตร และพ่นบ่อย

   จุลธาตุ (จุลธาตุทุกตัวรวมกันพบในพืชราว 0.5% หรือน้อยกว่านี้ บางธาตุอาจพบน้อยกว่า 0.002-0.0001%) ตัวอย่างปุ๋ยที่อาจพบความเป็นพิษ เช่น ซังค์ซัลเฟต, คอปเปอร์ซัลเฟต, โซเดียมบอเรต, กรดบอริก, เหล็กซัลเฟต, แมงกานีสซัลเฟต เป็นต้น พวกนี้หากใช้ในอัตราสูงๆ อาจทำให้ใบไหม้ได้

สัดส่วนปุ๋ยไนโตรเจนต่อฟอสฟอรัสต่อโพแทสเซียม (N:P:K)

    สัดส่วนปุ๋ยที่เหมาะสมต่อพืชได้มาจากผลวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารที่พบในน้ำหนักแห้งของเนื้อเยื้อพืช ซึ่งเป็นหลักการที่มีมาช้านานหลายสิบปี อาจย้อนหลังไปได้นานมากกว่า 50 ปี ค่าวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในพืชแล้วนำมาแปลงเป็นสัดส่วนปุ๋ย N:P:K เป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก โดยมีหลักการดังตัวอย่างปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในทุเรียน ดังนี้

    ปริมาณธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมที่พบในเนื้อเยื่อทุเรียน

    1. ไนโตรเจน (N) พบปริมาณโดยเฉลี่ย ราว 2% หรือ 20 กรัมในน้ำหนักแห้ง 1,000 กรัม

    2. ฟอสฟอรัส (P2O5) พบปริมาณโดยเฉลี่ย ราว 0.35-0.58% หรือ 0.35-0.58 กรัมในน้ำหนักแห้ง 1,000 กรัม

    3. โพแทสเซียม (K2O) พบปริมาณโดยเฉลี่ย ราว 1.8-3.0% หรือ 18-30 กรัมในน้ำหนักแห้ง 1,000 กรัม

    การคำนวณสัดส่วนปุ๋ย N:P:K โดยนำธาตุที่พบน้อยที่สุดมาเป็นตัวหาร ซึ่งในที่นี้คือ ฟอสฟอรัส (0.47%) จะได้ดังนี้

    1. ไนโตรเจน: (N 2%)/(P2O5 0.47%) = 4.25

    2. ฟอสฟอรัส: (P2O5 0.47%)/(P2O5 0.47%) = 1.00

    3. โพแทสเซียม: (K2O 2.4%)/(P2O5 0.47%) = 5.10

    ดังนั้น จะได้สัดส่วนปุ๋ย N:P:K เท่ากับ 4:1:5 ปัจจุบันสูตรปุ๋ยที่มีความใกล้เคียงสัดส่วนนี้ ได้แก่ 

  • สัดส่วนปุ๋ย 3:1:4 เช่น ปุ๋ยสูตร 15-5-20
  • สัดส่วนปุ๋ย 3:1:5 เช่น ปุ๋ยสูตร 15-5-25

    ในไม้ผลระยะที่ผลกำลังสร้างเนื้อหรือขยายขนาดผลอาจพบปริมาณโพแทสเซียมสูงถึง 3.5% ดังนั้น สัดส่วนปุ๋ยที่เหมาะสมจึงเท่ากับ 3:1:5 เช่น ปุ๋ยสูตร 15-5-25 นอกจากนี้ การปรับสัดส่วนสูตรปุ๋ยตามสภาพสวนและระยะการพัฒนาของผลก็มีความสำคัญ เช่น มีฝนตกชุกในช่วงผลกำลังขยายขนาดผล พืชจะได้รับไนโตรเจนจากฝนสูงอาจต้องปรับสัดส่วนโพแทสเซียมให้สูงขึ้น เช่น สัดส่วน 2-1-5, 3-1-7 ได้แก่ ปุ๋ยสูตร 14-7-35, 15-5-35 เป็นต้น หรือในช่วงระยะก่อนการเก็บเกี่ยวก็สามารถปรับมาใช้สัดส่วนนี้ได้เช่นกัน

N:P:K เท่ากับ ใบ ดอก และผล จริงหรือไม่ ..?

    การเรียนการสอน หรือคำกล่าวที่ว่า ไนโตรเจน (N) คือ ใบ, ฟอสฟอรัส (P) คือ ดอก และโพแทสเซียม (K) คือ ผล เป็นคำกล่าวที่ได้รับการถ่ายทอดกันมานานจนทำให้คนทั่วไปจดจำฝั่งใจว่า"เอ็น พี เค (N:P:K) เท่ากับ ใบ ดอก และผล" ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตุว่า เหตุที่มีการสอนสืบเนื่องกันมาในลักษณะนี้ เป็นเพราะเมื่อในอดีตความก้าวหน้าทางวิชาการในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก ประกอบกับเพื่อให้เกษตรกรจดจำง่ายแต่เป็นการถ่ายทอดที่ผิดพลาด เช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า"ปุ๋ยฟอสฟอรัส (P) ทำหน้าที่สร้างตาดอกในไม้ผล-ไม้ยืนต้น หรือแม้กระทั้งในไม้ดอกและพืชผักให้ผล" จนทำผู้คนฝั่งใจว่า"อยากได้ดอกต้องใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสสูง ไนโตรเจนต่ำ เช่น ปุ๋ยสูตร 8-24-24, 9-24-24, 9-25-25, 0-24-24, 7-21-21 และขนานนามปุ๋ยสูตรดังกล่าวเป็น ปุ๋ยเร่งดอก"

บทบาทและหน้าที่ (อย่างย่อ) ของธาตุอาหารหลักในทางวิชาการ มีดังนี้

    ไนโตรเจน

  • เป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโน โปรตีน ดังนั้นจึงเป็นทุกส่วนของพืช ตั้งแต่ ราก กิ่ง ลำต้น ใบ ดอก และผล
  • เป็นองค์ประกอบของกรดนิวคลีอิก และนิวคลีโอไทด์ มีบทบาทสำคัญในระยะการแบ่งเซลล์ของพืช ในระยะการแตกใบอ่อนและการพัฒนา ระยะแตกตาดอก หลังผสมเกสรถึงระยะผลอ่อน บางพืชจะแบ่งเซลล์มากตั้งแต่ช่วงพัฒนาดอกถึงระยะขยายขนาดผล (ในผลที่มีการพัฒนาแบบดับเบิ้ลซิกมอยด์)
  • เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์
  • เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ (สังเคราะห์ขึ้นจากกรดอะมิโน) มีหน้าที่ควบคุมหรือกระตุ้นกระบวนการเมตาบอลิซึมของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
  • เป็นองค์ประกอบของโคเอนไซม์ ช่วยในการทำงานของเอนไซม์
  • เป็นองค์ประกอบของฮอร์โมนพืชบางชนิด

    ฟอสฟอรัส

  • เป็นองค์ประกอบของน้ำตาลฟอสเฟต หรือสารให้พลังงาน (กรดอะมิโน+ฟอสเฟต+น้ำตาลไรโบส) เช่น ATP, ADP และ NADP
  • เป็นตัวเชื่อมกรดนิวคลีอีก นิวคลีโอไทด์
  • เป็นองค์ประกอบของโคเอนไซม์บางชนิด
  • เป็นองค์ประกอบของกรดไฟติคและฟอสโฟลิพิด

       * บทบาทบางประการของฟอสฟอรัสต่อการพัฒนาดอก คือ ส่งเสริมการพัฒนารังไข่ของดอก และมีธาตุอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วยอย่างมาก

      ** ในหนังสือเกี่ยวกับธาตุอาหารจะเน้นบทบาทของฟอสฟอรัสในด้านการเป็นสารให้พลังงานเพื่อแจกจ่ายไปใช้ในกระบวนการเมตาบอลิซึม (ATP, ADP และ NADP) เพียงแต่ปริมาณความต้องการฟอสฟอรัสมีน้อยมากเมื่อเทียบกับธาตุหลักและธาตุรองบางตัว

   โพแทสเซียม

  • กระตุ้นหรือเป็นตัวปลุกฤทธิ์ของเอนไซม์มากกว่า 60 ชนิด
  • เกี่ยวข้องกับการเปิด-ปิดปากใบและการสังเคราะห์แสง
  • เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายน้ำตาล และสารอาหารอื่นๆ จากใบแก่ไปยังส่วนต่างๆ ของพืช
  • เกี่ยวข้องต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมในการสังเคราะห์กรดอะมิโน
  • ความคุมแรงดันภายในเซลล์ ทำให้เซลล์เต่ง

      * บทบาทที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาคุณภาพของผล คือ การเคลื่อนย้ายน้ำตาลจากใบแก่ไปสะสมที่ผลหรือในหัวของพืชหัว

    จากบทบาทของธาตุหลักจะเห็นได้ว่า แต่ละธาตุจะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จะมีธาตุหนึ่งธาตุใดอยู่เดียวๆ ไม่ได้ ดังนั้น การใส่ปุ๋ยแก่พืชจึงมีความจำเป็นที่จะต้องการควบคุมสัดส่วนของธาตุอาหารให้เหมาะสม โดยพิจารณาจากผลวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในพืชประกอบ และ N:P:K ไม่ใช่ ใบ ดอก และผล ประกอบกับไม่มีเอกสารวิชาการเล่มใดในโลกระบุว่า "ฟอสฟอรัส (P) ทำหน้าที่สร้างตาดอก" ยกเว้น เอกสารหรือโบว์ชัวร์ของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปุ๋ย

ตัวอย่างภาพประกอบ "ปริมาณความต้องการธาตุอาหารของมะเขือเทศ (พืชให้ผล)" จะพบว่า ในช่วงแรกของการปลูกในระยะสั้นๆ มะเขือเทศจะต้องการไนโตรเจนสูงกว่าโพแทสเซียม โดยที่มีความต้องการฟอสฟอสต่ำมากเมื่อเทียบกับไนโตรเจน โพแทสเซียม และแคลเซียม เมื่อมะเขือเทศเจริญเติบโตขึ้น (เริ่มมีใบแก่มากขึ้น) จะพบว่ามะเขือเทศมีความต้องการโพแทสเซียมที่สูงขึ้น และสูงมากกว่าไนโตรเจนไปตลอด ในขณะที่ฟอสฟอรัสแม้มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของมะเขือเทศ แต่ก็ไม่ได้ต้องการมากไปกว่าแคลเซียม แม้ในช่วงที่จะสร้างตาดอกหรือออกดอก"

    สำหรับในไม้ผลและพืชอื่น ความต้องการฟอสฟอรัสก็ไม่ต่างอะไรกับมะเขือเทศ เพียงแต่ปุ๋ยสูตรสำเร็จรูปที่มีจำหน่ายในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสูตรที่มีฟอสฟอรัสต่ำๆ ตามระดับปริมาณที่พืชต้องการได้ แต่สูตรที่มีอยู่ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-5-20, 15-5-25, 15-5-35, 14-7-35 สัดส่วนฟอสฟอรัสนี้ก็เหมาะสมแล้ว​ เผื่อความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นเมื่อหว่านลงดิน เนื่องจากธาตุฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปปุ๋ยทุกชนิดเป็นสารประกอบ "ไดฟอสเฟตเพนตะออกไซด์ (P2O5)" เมื่อหว่านปุ๋ยฟอสฟอรัสลงดินและได้รับความชื้นจากน้ำจะแตกตัวเป็นสารประกอบฟอสเฟต (PO4-), ไฮโดรเจนฟอสเฟต (HPO42-) หรือ ไดไฮโดรเจนฟอสเฟต (H2PO4-) ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความเป็นกรด-ด่างของดิน (pH) สารประกอบฟอสเฟต ทั้ง 3 รูปนี้ จะทำปฏิกิริยากับธาตุที่มีไอออนประจุบวกได้ง่ายและรวดเร็ว เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี เหล็ก แมงกานีส และทองแดง ทำให้เกิดการตกตะกอนอยู่ในรูปที่พืชแทบจะใช้ประโยชน์ไม่ได้หรือใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย

    อีกประการ​ คือยังไม่มีผลวิเคราะห์ปริมาณ​ธาตุอาหารในพืชฉบับใด​ที่รายงานผลวิเคราะห์ธาตุฟอสฟอรัส​มีปริมาณสูงกว่า หรือเท่ากับธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียม ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง"ความต้องการธาตุอาหารและการแนะนำปุ๋ยในทุเรียน" และ"การจัดการธาตุอาหารและการเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยในสวนทุเรียน" โดย รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม และคณะ ปี (พ.ศ. 2544 และ 2547 ตามลำดับ) ซึ่งมีการเก็บตัวอย่างใบทุเรียนนำไปวิเคราะห์หาปริมาณธาตุอาหารหลังมีการใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 (ระยะทำใบทุเรียน เตรียมต้น) ปุ๋ยสูตร 8-24-24 (ระยะก่อนออกดอก) และปุ๋ยสูตร 12-12-17 (ระยะเลี้ยงผล) โดยรายงานว่าผลวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในใบทุเรียน ระหว่างช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. ปี 2544(เป็นช่วงที่มีการใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ก่อนออกดอก) มีธาตุไนโตรเจน (N) 1.96-2.24%,ฟอสฟอรัส (P) 0.18-0.35% และ โพแทสเซียม (K) 1.77-2.36%

แหล่งสืบค้น:

    ปฐพีวิทยาเบื้องต้น.2548.คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 10.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.547 หน้า.

    ยงยุทธ โอสถสภา.2558.ธาตุอาหารพืช.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.548 หน้า.

    สุมิตรา ภู่วโรดม และคณะ.2544.รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ ความต้องการธาตุอาหารและการแนะนำปุ๋ยในทุเรียน.ชุดโครงการ "ไม้ผลและผลิตภัณฑ์จากผลไม้" สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).196 หน้า.

    สุมิตรา ภู่วโรดม และคณะ.2547.รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ การจัดการธาตุอาหารและการเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยในสวนทุเรียน.ชุดโครงการ "ไม้ผลและผลิตภัณฑ์จากผลไม้" สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).196 หน้า.

กลไกออกฤทธิ์ (Mode of Action) ของยากลุ่ม 19 ทำให้ไรเกิดอาการตื่นตัว ใจเต้นแรง สั่นและความดันขึ้นสูง
By Thirasak Chuchoet April 29, 2025
กลไกออกฤทธิ์ (Mode of Action) ของยากลุ่ม 19 ทำให้ไรเกิดอาการตื่นตัว ใจเต้นแรง สั่นและความดันขึ้นสูงจนนำไปสู่อาการชักกระตุก เป็นอัมพาตและลาโลกแบบไม่สมัครใจ คล้ายเสพยากระตุ้นประสาทเกินขนาด
    ATP: Adenosine Triphosphate เป็นสารชีวเคมีที่กักเก็บและปลดปล่อยให้พลังงานสูงที่สำคัญต่อพืช
By Thirasak Chuchoet April 25, 2025
ATP หรือ “เอทีพี” ย่อมาจาก อะดีโนซีนไตรฟอสเฟต (Adenosine Triphosphate) เป็นสารชีวเคมีที่กักเก็บและปลดปล่อยให้พลังงานสูงที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของพืชทุกชนิด
แจกสูตร ผสมปุ๋ยเกล็ดพ่นทางใบโดยใช้แม่ปุ๋ยดวงตะวันเพชร สูตรสะสมอาหารก่อนเปิดตาดอกและสูตรเบรกใบอ่อน
By Thirasak Chuchoet April 23, 2025
แจกสูตร.!! ผสมปุ๋ยเกล็ดพ่นทางใบโดยใช้แม่ปุ๋ยดวงตะวันเพชร สูตรสะสมอาหารก่อนเปิดตาดอก และสูตรเบรกใบอ่อน-บล็อกใบอ่อน
เลือกใช้แมกนีเซียม (Mg) ตัวไหนดี.. ระหว่างแมกนีเซียมไนเตรท, แมกนีเซียมซัลเฟตเฮพตะไฮเดรต หรือแมกคีเลต
By Thirasak Chuchoet April 22, 2025
เลือกใช้แมกนีเซียม (Mg) ตัวไหนดี.. ระหว่างแมกนีเซียมไนเตรท, แมกนีเซียมซัลเฟตเฮพตะไฮเดรต หรือแมกนีเซียมคีเลต
ปุ๋ยแคลเซียมคลอไรด์ไม่ใช่ปุ๋ยร้อน ดั่งการอุปมาอุปไมยเป็นยาร้อน-ยาเย็น
By Thirasak Chuchoet April 21, 2025
ปุ๋ยแคลเซียมคลอไรด์ไม่ใช่ปุ๋ยร้อน ดั่งการอุปมาอุปไมยเป็นยาร้อน-ยาเย็น
เอกสาร
By Thirasak Chuchoet January 4, 2025
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย "การดูดซึมปุ๋ยและอาหารเสริมทางใบ"
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของการเจริญเติบโต
By Thirasak Chuchoet December 3, 2024
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของผลกระทบที่ธาตุอาหารมีผลต่อการดูดซึมและการใช้ประโยชน์ของพืชในกระบวนการเจริญเติบโต
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ พืชขาดน้ำ พืชขาดธาตุ ธาตุเป็นพิษ ดินเสีย
By Thirasak Chuchoet November 9, 2024
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ 1) ทำให้พืชขาดน้ำ การเจริญเติบโตลดลง 2) พืชขาดธาตุบางชนิดหรือธาตุเป็นพิษ​ และ​ 3) ผลกระทบต่อโครงสร้างดิน​ กายภาพของดินเลวลง รากชอนไชยาก
แผลจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
แผลที่เกิดจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส ซึ่งมีลักษณะแผลที่คล้ายคลึงกัน
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแล
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแลป้องกัน โดยเฉพาะช่วงออกดอก-ติดผล
More Posts