ไรสนิมส้ม.. ชอบสภาพอากาศชื้นมากกว่าร้อน.!!

Thirasak Chuchoet • July 5, 2024
ไรสนิมส้ม.. ชอบสภาพอากาศชื้นมากกว่าร้อน.!!

    ไรสนิมส้ม (Citrus rust mite: Phyllocoptruta oleivora Ashmead) เป็นไรศัตรูพืชในวงศ์อิริโอไฟอิดี้ (Family: Eriophyidae) หรือวงศ์ไรสี่ขา[1] อยู่ในอันดับย่อยแอคติเนดิด้า (sub-order; Actinedida)

ไรสนิมส้มชอบสภาพอากาศชื้นและเย็นมากกว่าร้อนและแห้งแล้ง

    ไรสนิมส้มเป็นศัตรูพืชที่แพร่ระบาดมากในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว หรือภูมิอากาศชื้น สภาพอากาศเย็นในช่วงกลางคืนถึงเช้าและมีหมอก ในสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งการระบาดจะลดลง แต่ในปัจจุบันแมลงและไรศัตรูพืชหลายชนิดปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในภาวะโลกเดือดมากขึ้น เพื่อการอยู่รอดและดำรงเผ่าพันธุ์ ดังนั้น อาจมีความเป็นไปได้ว่าไรสนิมส้มเองก็ปรับพฤติกรรมเช่นกัน เนื่องจากในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค. (พ.ศ. 2567) ที่ผ่านมาพบการระบาดพบสมควรในพื้นที่ปลูกส้มโอ จ.นครศรีธรรมราช

คราบปื้นสนิมเหล็กที่เกิดจากไรสนิมส้มดูดน้ำเลี้ยง

    ไรสนิมส้มเป็นศัตรูที่สำคัญของพืชตระกูลส้ม-มะนาว โดยเฉพาะส้มโชกุน ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และพบบางในมะนาว โดยทั้งตัวอ่อน และตัวเต็มวัย จะดูดทำลายใบและผล นอกจากนี้ในกิ่งก้านที่ยังมีสีเขียวก็อาจพบการเข้าทำลายได้เช่นกัน

    การเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบของไรสนิมส้ม มักพบไรชนิดนี้อาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบมากกว่าหน้าใบ แต่บางครั้งก็พบตามหน้าใบด้วยเช่นกัน ในส้มเขียวหวาน ส้มสายน้ำผึ้งจะทำให้หน้าใบเป็นปื้นสีดำ ใบสูญเสียคลอโรฟิลล์ที่ใช้สังเคราะห์แสง

ภาพที่ 1: ลักษณะการเข้าทำลายของไรศัตรูพืชจะพบคราบฝุ่นละเอียดสีขาว

ภาพที่ 2: ใบส้มเกิดรอยปื้นสีดำระหว่างเส้นใบ ที่เกิดจากไรสนิมส้ม

ภาพที่ 3: ใบส้มเกิดรอยปื้นสีดำระหว่างเส้นใบที่เกิดจากไรสนิมส้ม เมื่อนานวันรอยปื้นจะแข็งและนูนขึ้นเล็กน้อย

    สำหรับการเข้าทำลายผลนั้น พบว่า ไรสนิมส้มสามารถเข้าทำลายดูดกินน้ำเลี้ยงจากผลได้ตลอดระยะเวลาของการพัฒนาผล ตั้งแต่ผลอ่อนจนถึงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว แต่จะพบมากในช่วงผลเริ่มสร้างเปลือกหนาขึ้นหรือเมื่อผลอายุตั้งแต่ 1-1.5 เดือนขึ้นไป เนื่องจากระยะนี้การแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟลดลง[2] การเข้าทำลายผลจะเริ่มจากฝั่งของผลที่อยู่ด้านในของทรงพุ่มก่อน ต่อมาจึงขยับมายังด้านที่แสงส่องถึงเมื่อระบาดมาก ในผลส้มที่ติดผลเป็นช่อไรสนิมส้มจะเข้าทำลายตรงช่องระหว่างผลที่ติดกันก่อน ทำให้สังเกตุเห็นอาการถูกทำลายได้ยาก

    ในระยะแรกๆ ด้านผลส้มที่ถูกทำลายจะแลดูผิวซีดจางลงเล็กน้อย ผิวไม่มันวาว ผิวกระด้าง ในผลส้มขนาดเล็กอาจพบคราบสีขาวคล้ายฝุ่นละอองละเอียด ซึ่งเป็นคราบที่เกิดจากการลอกคราบของตัวอ่อน เมื่อระบาดมากขึ้นหรือในผลส้มที่อายุมากผิวจะเป็นปื้นสีน้ำตาลอมแดง สีแดงสนิมและขยายวงปื้นออกไปเรื่อย ๆ ค่อนข้างเป็นวงทรงกลม (russeting) ต่อเมื่อนานเข้าคราบรอยปื้นนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ในสภาพอากาศร้อนและแล้ง หรือขาดน้ำรอยปื้นดำจะตกกระ เป็นร่องแตกลายงา หากผลการระบาดรุนแรงตั้งแต่ผลส้มยังเล็กจะทำให้ผลชะงักการขยายขนาด ผลเล็กกว่าปกติ

    สำหรับผลส้มและส้มโอ ที่ถูกไรสนิมเข้าทำลายมักพบว่าคุณภาพรสชาติของผลยังมีรสหวาน รับประทานได้แต่ผิวแลดูไม่น่ารับประทานและไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

ภาพที่ 4: ผลส้มที่ถูกไรสนิมดูดกินน้ำเลี้ยง และพบการระบาดรุนแรง

ภาพที่ 5: รอยปื้นสีดำที่เกิดจากไรสนิม เมื่อนานวันหรือส้มขาดน้ำจะเกิดกระตกกระ แตกเป็นลายงา

ภาพที่ 6: ผิวกระตกกระและแตกเป็นลายงา จากการเข้าทำลายของไรสนิมส้ม

ภาพที่ 7: รอยปื้นสีน้ำตาลเข้ม, บางครั้งเป็นสีแดงสนิม จากการเข้าทำลายของไรสนิมส้ม

ภาพที่ 8: ไรสนิมส้มจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากผลฝั่งที่เป็นร่มเงาก่อนหรือฝั่งที่ผลอยู่ชิดกัน

ภาพที่ 9: หากไรสนิมส้มระบาดรุนแรง อาจพบเข้าทำลายผลที่อยู่ปลายทรงพุ่มด้วย

รูปร่างลักษณะของไรสนิมส้ม

    ไรสนิมส้ม มีรูปร่างคล้ายหนอนตัวป้อมสั้น มีขนาดเล็กมากและไม่สามารถมองด้วยตาเปล่า เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่มีขนาดความยาวเพียง 160 ไมครอน กว้าง 60-65 ไมครอน ลำตัวเป็นปล้องมีสีเหลือง ด้านหน้ากว้างกว่าส่วนท้าย มีขา 2 คู่อยู่ส่วนหน้า ตัวเต็มวัยเพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของแมลงและไรศัตรูพืช

    จากการศึกษาของ อังศุมาลย์ (พ.ศ. 2530) ระบุว่า จากระยะไข่พัฒนาเป็นตัวเต็มวัยใช้ระยะเวลาราว 7-8 วัน ภายใต้สภาพอากาศโดยประมาณที่อุณภูมิ 28 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 50-60% แต่ในสภาพภูมิอากาศปัจจุบันอาจใช้ระยะเวลาพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยเร็วกว่านี้ ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้เวลา 7-8 วันหรือน้อยกว่านี้การพ่นสารกำจัดไรศัตรูพืชยังคงต้องสลับกลุ่มสารกำจัดไรศัตรูพืชตามกลไกออกฤทธิ์ทุกครั้งที่พ่นยา

วงจรชีวิตของไรสนิมส้ม

    วงจรชีวิตของไรสนิมส้มเหมือนกับไรศัตรูพืชชนิดอื่นในวงศ์ไรสี่ขา กล่าวคือ ประกอบไปด้วยช่วงวัย 4 วัย และมีระยะพักตัว 2 ช่วง แต่อายุอาจแตกต่างกันบางเล็กน้อย บวก/ลบ อาจไม่เกิน 1 วัน โดยวงจรชีวิตมีดังนี้

   ตัวเต็มวัย หรือตัวแก่ (adult): ไรสนิมส้มเพศผู้ มีอายุขัยเฉลี่ย 8-12 วัน และเพศเมียเฉลี่ย 11-12 วันเพศเมียหลังจากเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลาราว 4 วัน จึงเริ่มวางไข่ โดยวางไข่เฉลี่ย 5.6 ฟองต่อวัน (40-50 ฟองต่อตัว)  ตัวเต็มวัยเพศเมียมีการเจริญพัฒนา 2 ลักษณะ หรือดิวเทอโรไจนี (deuterogyny) ลักษณะแรกเจริญพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยอย่างรวดเร็วภายใต้สภาพอากาศเหมาะสม และมีพืชอาหารสมบูรณ์ ซึ่งจะแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ลักษณะที่สอง คือสืบพันธุ์ได้โดยไม่อาศัยเพศผู้ ในสภาพภูมิอากาศหนาวจัดหรือขาดแคลนอาหารพืชอาหาร เพศเมียจะมีการพัฒนารูปร่างให้ทนทานสภาพอากาศ และนอกจากนี้ไรสนิมส้มและไรในวงศ์ไรสี่ขา สามารถขยายพันธุ์ในลักษณะไม่ต้องอาศัยเพศแบบ  "อาร์รีโนโตคัส (arrhenotokous parthenogenesis)" โดยไข่ที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์นี้จะพัฒนาเป็นไรเพศผู้ทั้งหมด ส่วนไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จะเจริญเป็นเพศเมีย การผสมพันธุ์ของไรวงศ์ไรสี่ขา จะเริ่มจากไรสี่ขาเพศผู้ปล่อยถุงหุ่มเสปิร์ม (spermatophore) ไว้ตามพืชอาหาร เมื่อไรเพศเมียมาพบ จะใช้ส่วนท้องที่มีอวัยวะสืบพันธุ์เก็บถุงเสปิร์ม แล้วบีบรีดสเปิร์มเข้าสู่รังไข่เพื่อผสมพันธุ์

   ไข่ (egg): หลังจากเพศเมียวางไข่ 3 วัน ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนวัยที่ 1

   ตัวอ่อนวัย 1 (first nymph): มีอายุขัยราว 1-2 วัน หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะพักที่ 1 (nymphochrysalis) 1 วัน เป็นระยะที่ลดการเคลื่อนไหว หลังจากนั้นจึงลอกคราบเป็นตัวอ่อนวัยที่ 2

   ตัวอ่อนวัย 2 (second nymph): มีอายุขัยราว 1 วัน หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะพักที่ 2 (imagochrysalis) 1 วัน แล้วจึงลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย

ภาพที่ 10: รูปร่างของไรสนิมส้ม, ถ่ายภาพด้วยกำลังขยายมากกว่า 50 เท่า

การป้องกันกำจัด

    1. ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง แสงส่องถึงด้านในทรงพุ่ม เนื่องจากไรสนิมส้มสร้างความเสียหายให้กับผลส้มทางด้านร่มเงามากกว่าด้านรับแสงแดด

    2. เมื่อพบการเข้าทำลายของไรสนิมส้ม หรือไรศัตรูพืชชนิดอื่น โดยสังเกตุที่ใบหรือผิวผล ว่าปรากฏ คราบผงสีขาวละเอียดๆ คล้ายฝุ่นจับหรือไม่ หากพบการเข้าทำลายควรพ่นสารกำจัดไรศัตรูพืช หรือสารกำจัดแมลงที่มีฤทธิ์กำจัดไร โดยปฏิบัติดังนี้

      2.1 การพ่นสารกำจัดไรศัตรูพืช ควรปรับหัวพ่นยาให้ยาที่พ่นเป็นละอองฝอยให้มากที่สุด หากเป็นไปได้ควรเลือกใช้หัวพ่นแบบละอองยาเป็นรูปกรวยทึบ (solid cone type) คือ ละอองยาที่พ่นออกมาจะกระจายเต็มวงกรวย แต่จะสิ้นเปลืองยามากกว่าหัวพ่นแบบละอองยากรวยกลวง (hollow cone nozzle)

      2.2 การพ่นสารกำจัดไรศัตรูพืช หากผสมไวท์ออยล์ หรือพาราฟินออยล์ (white oil หรือ parafin oil) ร่วมด้วยจะเสริมประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น โดยออยล์เหล่านี้จะมีลักษณะใส ไม่มีสี หรืออาจสีใสก็ได้ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต  (ไม่แนะนำปิโตรเลี่ยมออยล์ - น้ำดำ) การใช้ออยล์ควรทดสอบผลิตภัณฑ์ก่อนใช้เสมอ โดยอาจทดสอบผสมกับยาที่ต้องการใช้ในการพ่น ทดสอบความเข้ากันได้ทางกายภาพเบื้องต้นและทดสอบพ่นเล็กน้อย 4-5 ช่อดอกหรือยอดอ่อนก่อน และเมื่อใช้ออยล์แล้ว ไม่ควรผสมสารจับใบหรือสารเร่งซึม

    3. สารกำจัดไรศัตรูพืชและสารกำจัดแมลง ที่แนะนำมีดังนี้  (อัพเดท​ ก.ค.​ 2567)

   กลุ่ม 1B: เฉพาะที่เคยใช้และมีข้อมูลในเอกสารที่ค้นได้​ เช่น  ไตรอะโซฟอส​ 40%, โพรฟีโนฟอส​ 50%, อีไทออน 50%, ไตรคลอร์ฟอน​ 80% อัตราใช้ราว​ 30-50 ซีซี​./กรัม​ ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ ยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักมีฤทธิ์​กำจัดแมลงได้มากชนิด​ และเป็นอันตรายต่อแมลงตัวห้ำ ตัวเบียน

   กลุ่ม 2B: ฟิโพรนิล 5%, 25% และ​ 80% ตามข้อมูลและจากประสบการณ์​ใช้ได้เฉพาะกับไรศัตรูพืช​ในวงศ์ไรขาว​  "เท่านั้น"​ ฟิโพรนิลเป็นยาที่กำจัดแมลงได้มากชนิดและเป็นอันตรายต่อแมลงตัวห้ำ ตัวเบียน

    หมายเหตุ​: ฟิโพรนิล​ 80% มักมีปัญหาเรื่องการละลายเมื่อมีอายุหลังการผลิตมากกว่า​ 6-8 เดือน

   กลุ่ม 3A: ไบเฟนทริน​ 2.5%, 5% และ​ 10% (ในอนาคตจะพบเปอร์เซ็นต์​ที่สูงกว่านี้​ เช่น​ 24%SC น้ำครีม)​ อัตราใช้​ 80-120 ซีซี., 40-60 ซีซี.​ และ​ 20-30 ซีซี.​ ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ (ตามลำดับ)​ ยากลุ่มนี้เป็นยาที่กำจัดแมลงได้มากชนิดและเป็นอันตรายต่อแมลงตัวห้ำ ตัวเบียน​ ตามข้อมูล​ทั่วไปหากไม่คำนึงถึงเรื่องการส่งเสริมการระบาดเพิ่ม​ (resurgence) จะมียาตัวอื่นที่ใช้ได้เช่นกัน​ ได้แก่​ เดลตาเมทริน, แลมป์ดา-ไซฮาโลทริน, เฟนโพรพาทริน​ เป็นต้น​ (แต่ไม่แนะนำให้ใช้)​

   กลุ่ม 6: อะบาแมกติน 1.8% และ 2.4% เดิมสมัยโบราณมีการใช้อะบาแมกตินเพื่อกำจัดไรแดง​ ไรขาวกันมาก​ แต่ปัจจุบันพบว่าไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ​แล้ว​ แต่เมื่อ​ 5-6​ ปีมานี้​ มีงานวิจัยในต่างประเทศ​ทดสอบพ่นในแปลงโดยใช้​  "อะบาแมกติน​ ผสมร่วมกับ ไทอะมีทอกแซม"​ เปรียบเทียบกับยาไรชนิดอื่นๆ​ โดยพบว่า สามารถใช้ป้องกันและกำจัดไรแดงได้ดีเทียบเท่าหรือมากกว่าสารกำจัดไรศัตรูพืชบางชนิด

    จากประสบการณ์​ส่วนตัวที่ทดสอบใช้ตามงานวิจัย​ ให้ผลในเชิงป้องกันดีมาก​ โดยใช้​ อะบาแมกติน 2.4%​ อัตรา​ 25-30 ซีซี.​ ผสม ไทอะมีทอกแซม​ 25% อัตรา​ 15​ กรัม​ ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ (มีผลข้างเคียงต่อแมลงตัวห้ำ ตัวเบียน) 

   กลุ่ม 10A: เฮกซี่ไทอะซอก​ 1.8% ยาเฉพาะไรศัตรูพืช​วงศ์ไรแดง​ (หรืออีกชื่อวงศ์ไรแมงมุม)​ เป็นยาที่มีกระแสในช่วง​ 3-4​ ปีมานี้​ เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายกันมากขึ้นและมีการโฆษณา​กันมาก​ แต่ขาดการเช็คผลประสิทธิภาพ​ในแปลง​ เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน​ ยาตัวนี้มีจำหน่ายเพียงบริษัท​เดียว​และจำหน่ายได้ดีหน่อยในเขตภาคกลาง จ.นครปฐม​ กาญจนบุรี​ เพชรบุรี​ ปทุมธานี​ ที่อื่นๆ​ จำหน่ายได้น้อย​ 

    ยากลุ่ม​ 10 ออกฤทธิ์​ยับยั้งการสังเคราะห์สารไคติน​ ไทป์​ 1 (CHS1) ในช่วงที่พบการระบาดของไรแดงหากพ่นยากลุ่มนี้มักไม่ค่อยได้ผลในการลดจำนวนไรแดง​ นั้นอาจเพราะวงจรชีวิตที่สั้นมากของไรแดง​ โดยประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อ​ 7-8​ ปี​ก่อน​ เคยติดตามแปลงส้มสายน้ำผึ้งที่พ่นเฮกซี่ไทอะซอก​ ทั้งอัตรา​ 30​ ซีซี.​ และ​ 40​ ซีซี.​ ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ ไม่สามารถควบคุมประชากร​ไรแดงให้อยู่ในระดับเป็นที่พอใจของชาวสวนได้​ ดังนั้น  ​ยาตัวนี้จะเหมาะกับใช้เป็นตัวเสริมเอาไว้ผสมร่วมกับยาไรชนิดอื่นมากกว่า

   กลุ่ม 12: มีให้เลือกใช้ 3 กลุ่มย่อย ดังนี้

     - กลุ่ม 12B: เพนบูทาตินออกไซด์​ 55% อัตรา​ 15​ ซีซี.​ ต่อ​น้ำ​ 20​ ลิตร​ ในพื้นที่ที่มีการใช้โพรพาร์ไกต์เป็นประจำ อาจมีความจำเป็นต้องปรับอัตราใช้เป็น​ 20-25 ซีซี.​ ต่อ​น้ำ​ 20​ ลิตร​ โดยเพนบูทาตินออกไซด์มีกลไกออกฤทธิ์ที่จุดจับเดียวกันกับโพรพาร์ไกต์ แต่มีความปลอดภัยต่อพืช

     - กลุ่ม​ 12C: โพรพาไกต์ 20%, 30% และ​ 57% เป็นยาที่มีโครงสร้างทางเคมีประกอบด้วยหมู่​ซัลไฟท์​ (Sulfite หรือ​ Sulphite -​ ester)​ ซึ่งหากพืชได้รับในปริมาณมากอาจก่อความเป็นพิษต่อพืช​ หรืิอเป็นพิษต่อพืชง่ายหากผสมร่วมกับยาที่มีฤทธิ์​เป็นด่างจัด​ ยาน้ำมันเข้มข้น​ หรืิอพ่นร่วมกับยาจับใบเร่งซึม

     - กลุ่ม​ 12​D: เตตระไดฟอน​ ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นจำหน่ายในท้องตลาด

      *ยากลุ่ม​ 12B,​ 12C และ​ 12D แม้จัดอยู่ในกลุ่มกลไกออกฤทธิ์​เดียวกัน​ คือ​ กลุ่ม​ 12​ แต่มีโครงสร้างทางเคมีต่างกัน​ คือ​ 12B กลุ่มสารเคมี​ออร์กาโนติน​, 12C กลุ่ม​สารเคมีซัลไฟท์เอสเทอร์ และ 12​D กลุ่มสารเคมีเตตระไดฟอน

   กลุ่ม 13: คลอร์ฟีนาเพอร์​ 10%, 24% และ​ 40%  ใช้กำจัดได้ทั้งวงศ์ไรแดง​ และวงศ์ไรขาว​ ปกติคลอร์ฟีนาเพอร์จะใช้กำจัดเพลี้ยไฟ​ และหนอน​ มีผลต่อด้วงต่ำ  อัตราใช้มาตรฐานสำหรับคลอร์ฟีนาเพอร์​ 10% เมื่อ​ 6-7 ปีก่อน​ (ตอนนั้นมีจำหน่ายบริษัทเดียว)​  โดยการทดสอบกำจัดเพลี้ยไฟและหนอนกระทู้ในดาวเรือง​ อัตราที่ใช้ได้ผลคือ​ 30-40 ซีซี.​ ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ (บริษัท​ผู้จำหน่ายเป็นผู้ทดสอบ​ ส่วนผมแค่ติดตามผล) ปัจจุบัน​คลอร์ฟีนาเพอร์​ 10% ขั้นต้นควรใช้อัตรา​ 40​ ซีซี.​ ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ และสำหรับ​ 24% และ​ 40%​ ควรใช้อัตรา​ 17​ ซีซี.​ และ​ 10 ซีซี​. ต่อ​น้ำ​ 20​ ลิตร​ (ตามลำดับ)​

   กลุ่ม 15: ลูเฟนนูรอน 5%  มีข้อมูล​แนะนำใช้ลูเฟนนูรอน​ในไรศัตรูพืช​วงศ์ไรสี่ขา​ "เท่านั้น"​ ส่วนตัวยังไม่เห็นเอกสารแนะนำใช้กับไรวงศ์อื่นๆ​ อัตราใช้น่าจะราว​ 20-30​ ซีซี.​ ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ ยากลุ่ม​ 15​ ยับยั้งการ​สังเคราะห์ไคตินชนิด​ 1 (CHS1) โดยค่อนข้างมีผลเฉพาะ​เจาะจงกับแมลงกลุ่มหนอนผีเสื้อและหนอนด้วง​ เพื่อลดการลอกคราบ​ ดังนั้น​ เมื่อนำมาใช้กับไรสี่ขา​ ซึ่งมีวงจรชีวิตค่อนข้างสั้นเช่นเดียวกับไรแดง​ จึงควรใช้เป็นยาบวกหรือเสริมจากยาไรตัวอื่นๆ

    *หมายเหตุ: โนวาลูรอน​ ในเอกสารต่างประเทศล่าสุดมีอัพเดทใช้กำจัดแมลงหวี่ขาว​ เพลี้ยไฟ​ และเพลี้ยจักจั่น

   กลุ่ม 19: อามีทราซ 20% ยาไรศัตรูพืช​ที่มีการใช้กันมากชนิดหนึ่ง​ อัตราแนะนำ​ราว​ 40-50​ ซีซี.​ ต่อ​น้ำ​ 20 ลิตร​ และมีผลข้างเคียง​กับหนอนผีเสื้อบางชนิด​ เช่น​ หนอนเจาะผล​ หนอนเจาะฝักถั่ว​ หนอนคืบ​ เพลี้ยอ่อนและเพลี้ยไก่แจ้บางชนิด

   กลุ่ม 20D: ไบฟีนาเซต​ 48% ยาไรที่น่าสนอีกตัว แต่ราคาสูง (มาก)​ อัตราใช้ราว​ 5-10 ซีซี.​ ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ เนื่องจากยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก​ และยังไม่มียาชนิดอื่นในกลุ่มนี้ออกมาจำหน่าย​ จึงคาดว่า​ ไรศัตรูพืช​ยังไม่ดื้อยากลุ่มนี้​

   กลุ่ม 21A: ไพริดาเบน 12.5% และ​ 20%, ทีบูเฟนไพแรด 36%​, เฟนไพร็อคซิเมต 5%, ฟีนาซาควิน​ 20%

    ยาในกลุ่มนี้​ที่จำหน่ายมากสุดคือ​ ไพริดาเบน​ และเฟนไพร็อคซิเมต​ ปัจจุบันเท่าที่ลองสังเกตุประสิทธิภาพ​หลังพ่น​ของไพริดาเบน​ 20% อัตรา​ 20​ กรัม​ ร่วมกับไวท์ออยล์​ ยังได้ผลพอสมควร​ (ร่วมกับการสลับกลุ่มยาอย่างเหมาะสม) ส่วนตัวอื่นๆ​ ผมยังไม่เคยทดสอบประสิทธิภาพ​อย่างจริงจัง​ ดังนั้น​ จึงไม่มีคำแนะนำเพิ่มเติมในตอนนี้

    ทีบูเฟนไพแรดมีผลข้างเคียงกับด้วง จึงมีการใช้กำจัดด้วงหมัดผักมาช้านานมาก ในระยะหลังๆ อาจจะไม่เป็นที่นิยมและไม่ค่อยมีคนทราบเท่าไหร่ ดังนั้น การหยุดใช้ทีบูเฟนไพแรดของชาวสวนมา 4-5 ปี และนำกลับมาใช้ใหม่อาจได้ผลดี

   กลุ่ม 23: สไปโรมีซีเฟน ​24% สไปโรเตตระแมท 15%, 24% และสไปโรไดโคลเฟน​ 24% ยาเหล่านี้มีกลไกยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้อง​กับการสังเคราะห์​กรดไขมันสายยาว​ คือ​ เอนไซม์​อะซีทิลโคเอ​คาร์บ็อกซิเลส​ (ACC) มีผลทำให้การสร้างเยื้อหุ้มเซลล์​ผิดปกติ​ 

    สไปโรมีซีเฟน​ มีการใช้กำจัดไรศัตรูพืช​กันมาอย่างแพร่หลายเกือบ​ 10 ปี​ ภายหลังมียา​ สไปโรเตตระเมท​ 15% ออกมาจำหน่าย​และแนะนำใช้กำจัดเพลี้ยไฟและหนอน​ แต่กลับได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร​ ต่อมาช่วง​ 2-3​ ปีนี้​ มีสไปโรเตตระเมท​ 24% ออกจำหน่ายโดยเน้นไปที่การกำจัดเพลี้ยแป้ง-เพลี้ยหอย​​ แต่จากการทดสอบส่วนตัวในเพลี้ย​หอยแดงแคลิฟอร์เนีย​ในส้มโอ​ พบว่าให้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไหร่นัก

    พ.ศ. ​2567 สไปโรไดโคลเฟน​ 24% มีออกวางจำหน่ายแล้ว​ มีทั้งการโฆษณา​และรีวิวมากมาย​ แต่ส่วนตัวยังไม่มีประสบการณ์​การใช้และการทดสอบ​ 

    ส่วนตัว  ตั้งข้อสังเกตุว่า "ยาในกลุ่ม​ 23" น่าจะมีการดื้อยาข้ามภายในกลุ่ม​ 23 คือ​ ถ้าศัตรูพืช​ดื้อสไปโรมีซิเฟน​ก็จะดื้อยาอีก​ 2 ตัวตามไปด้วย​ เนื่องจากในการพ่นสไปโรมีซิเฟนเพื่อกำจัดไรศัตรูพืชจะไม่กระทบต่อศัตรูพืชชนิดอื่นๆ แต่มีความเป็นพิษต่ำ ดังนั้น ศัตรูพืชอื่นจึงดื้อยากลุ่ม 23 ไปล่วงหน้าแล้ว

    ในต่างประเทศมีรายงานการใช้สไปโรมีซิเฟนและสไปโรไดโคลเฟน​กำจัดแมลงหวี่ขาว​ แต่สำหรับบ้านเราส่วนตัวยังไม่เห็นการทดสอบ​ (ซึ่งอาจมีผู้ทดสอบแล้วก็ได้)

   กลุ่ม 25: ไซฟลูมีโทเฟน​ 20% และไซอีโนไพราเฟน​ 30% เป็นกลุ่มยาไรศัตรูพืช​ที่เปิดตัววางจำหน่ายล่าสุด​ โดยไซฟลูมีโทเฟน​ วางจำหน่ายมาราว​ 5-6 ปี​แล้ว​ ส่วน​ไซอีโนไพราเฟน​ พึ่งวางจำหน่ายเมื่อ พ.ศ.2566

    ไซฟลูมีโทเฟน​ 20% เปิดตัวด้วยอัตราใช้​ 8-10​ ซีซี.​ ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ ส่วนไซอีโนไพราเฟน​ 30% เปิดตัวด้วยอัตรา​ 4-5​ ซีซี.​ ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ เมื่อราว​ 3-4​ ปี​ที่แล้ว​ เริ่มพบการรายงานการต้านทานไซฟลูมีโทเฟน​ของไรสองจุด​ (วงศ์ไรแดง)​ ในสตอเบอรี่​ และไรแดงส้มในส้มสายน้ำผึ้ง​ จนในพื้นที่ต้องเพิ่มอัตราใช้​เป็น​ 15​ ซีซี.​ ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะมีการใช้ยาตัวนี้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา​ ในพื้นที่ที่ยังไม่ค่อยมีการใช้มากเท่าไหร่​นั้น​ อัตรา​ 10 ซีซี.​ ต่อน้ำ​ 20​ ลิตร​ ยังมีประสิทธิภาพ​ดีอยู่

    ดังนั้น​ ในพื้นที่ที่มีการใช้ยากลุ่ม​ 25​ อย่างต่อเนื่อง​ ควรเพิ่มอัตราไปอีกเล็กน้อย​ โดยเพิ่มอัตราขึ้น​ราว​ 5 ซีซี.​ ทั้ง​ 2 ตัว​

   ที่สำคัญการใช้ยากำจัดไรศัตรูพืช​ คือ​ การหมุนเวียนสลับกลุ่มยาตามกลุ่มกลไกออกฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง​ โดยไม่ควรใช้ยากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งติดต่อกันมากกว่า​ 1 หรือ 2 ครั้ง​ หรือให้ดีควรสลับกลุ่มยาทุกครั้งที่พ่น

    การใช้สารกำจัดไรศัตรูพืชในลักษณะป้องกันก่อนการเข้าทำลาย​ ควรใช้ยากลุ่ม​ 1, 4, 6, 13​ และ​ 15 ​โดยส่วนตัวแนะนำใช้​ ไตรอะโซฟอส​ สลับ​ อะบาแมกติน ผสมร่วมกับไทอะมีทอกแซม​ สลับ คลอฟีนาเพอร์​ เพื่อป้องกันก่อนไรแดงระบาด​, ยากลุ่มอื่นๆ ไม่ค่อยเหมาะสม​เนื่องจากมีฤทธิ์ดูดซึมหรือแทรกซึม​เข้าสู่พืชต่ำ​ ส่วนใหญ่มีฤทธิ์เป็นยาสัมผัส

[1] ไรศัตรูพืช มีทั้งหมดด้วยกัน 4 วงศ์ ดังนี้

    1️. วงศ์ : ไรแดง หรือไรแมงมุม (Spider mite) ชื่อวงศ์เตตระไนชิดี้ (Tetranychidae)

    2️. วงศ์ : ไรแมงมุมเทียม (False spider mite) ชื่อวงศ์ทีนุยพาลพิดี้ (Tenuipalpidae)

    3️. วงศ์ : ไรขาว (Tarsonemid mite) ชื่อวงศ์ทาร์โซเนมิดี้ (Tarsonemidae)

    4️. วงศ์ : ไรสี่ขา (Eriophyid mite) ชื่อวงศ์อีริโอไฟอิดี้ (Eriophyidae)

[2] ตัวอ่อนของเพลี้ยไฟหลายชนิดเป็นแมลงตัวห้ำของไรศัตรูพืช เนื่องจากตัวอ่อนของเพลี้ยไฟมีความต้องการสารอาหารมากเป็นพิเศษ

แหล่งสืบค้น:

    อังศุมาลย์ จันทราปัตย์.2530.การประชุมทางวิชาการปัญหาแมลงปากดูดและไรที่สำคัญของพืชเศรษฐกิจในประเทศไทย “ชีววิทยาและนิเวศวิทยาบางประการของไรสนิมส้ม Some biological and ecological attributes of the citrus rust mite”.สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย; กรมวิชาการเกษตร; กรมส่งเสริมการเกษตร; มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์; สมาคมผู้ประกอบธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืช.กรุงเทพฯ.หน้า 109-127.

    เอกสารวิชาการ.2544.ไรศัตรูพืชและการป้องกันกำจัด Phytophagous mites and their control.พิมพ์ครั้งที่ 1; โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.กลุ่มงานวิจัยไรและแมงมุม กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร.192 หน้า.

    เอกสารวิชาการ.2555.การจัดการศัตรูส้มโอเพื่อการส่งออก.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร. 125 หน้า.

    เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตร.2560.เทคนิคการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช.กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชากาเกษตร.119 หน้า.

กลไกออกฤทธิ์ (Mode of Action) ของยากลุ่ม 19 ทำให้ไรเกิดอาการตื่นตัว ใจเต้นแรง สั่นและความดันขึ้นสูง
By Thirasak Chuchoet April 29, 2025
กลไกออกฤทธิ์ (Mode of Action) ของยากลุ่ม 19 ทำให้ไรเกิดอาการตื่นตัว ใจเต้นแรง สั่นและความดันขึ้นสูงจนนำไปสู่อาการชักกระตุก เป็นอัมพาตและลาโลกแบบไม่สมัครใจ คล้ายเสพยากระตุ้นประสาทเกินขนาด
    ATP: Adenosine Triphosphate เป็นสารชีวเคมีที่กักเก็บและปลดปล่อยให้พลังงานสูงที่สำคัญต่อพืช
By Thirasak Chuchoet April 25, 2025
ATP หรือ “เอทีพี” ย่อมาจาก อะดีโนซีนไตรฟอสเฟต (Adenosine Triphosphate) เป็นสารชีวเคมีที่กักเก็บและปลดปล่อยให้พลังงานสูงที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของพืชทุกชนิด
แจกสูตร ผสมปุ๋ยเกล็ดพ่นทางใบโดยใช้แม่ปุ๋ยดวงตะวันเพชร สูตรสะสมอาหารก่อนเปิดตาดอกและสูตรเบรกใบอ่อน
By Thirasak Chuchoet April 23, 2025
แจกสูตร.!! ผสมปุ๋ยเกล็ดพ่นทางใบโดยใช้แม่ปุ๋ยดวงตะวันเพชร สูตรสะสมอาหารก่อนเปิดตาดอก และสูตรเบรกใบอ่อน-บล็อกใบอ่อน
เลือกใช้แมกนีเซียม (Mg) ตัวไหนดี.. ระหว่างแมกนีเซียมไนเตรท, แมกนีเซียมซัลเฟตเฮพตะไฮเดรต หรือแมกคีเลต
By Thirasak Chuchoet April 22, 2025
เลือกใช้แมกนีเซียม (Mg) ตัวไหนดี.. ระหว่างแมกนีเซียมไนเตรท, แมกนีเซียมซัลเฟตเฮพตะไฮเดรต หรือแมกนีเซียมคีเลต
ปุ๋ยแคลเซียมคลอไรด์ไม่ใช่ปุ๋ยร้อน ดั่งการอุปมาอุปไมยเป็นยาร้อน-ยาเย็น
By Thirasak Chuchoet April 21, 2025
ปุ๋ยแคลเซียมคลอไรด์ไม่ใช่ปุ๋ยร้อน ดั่งการอุปมาอุปไมยเป็นยาร้อน-ยาเย็น
เอกสาร
By Thirasak Chuchoet January 4, 2025
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย "การดูดซึมปุ๋ยและอาหารเสริมทางใบ"
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของการเจริญเติบโต
By Thirasak Chuchoet December 3, 2024
ปฏิสัมพันธ์ของธาตุอาหารพืช แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารพืชในแง่ของผลกระทบที่ธาตุอาหารมีผลต่อการดูดซึมและการใช้ประโยชน์ของพืชในกระบวนการเจริญเติบโต
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ พืชขาดน้ำ พืชขาดธาตุ ธาตุเป็นพิษ ดินเสีย
By Thirasak Chuchoet November 9, 2024
ผลกระทบของดินเค็มและน้ำเค็ม คือ 1) ทำให้พืชขาดน้ำ การเจริญเติบโตลดลง 2) พืชขาดธาตุบางชนิดหรือธาตุเป็นพิษ​ และ​ 3) ผลกระทบต่อโครงสร้างดิน​ กายภาพของดินเลวลง รากชอนไชยาก
แผลจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
แผลที่เกิดจากบั่วมะม่วงโอกินาวาเมื่อแผลเปลี่ยนเป็นสีดำ อาจทำให้เข้าใจว่าเกิดจากการเข้าทำลายของโรคแอนแทรคโนส ซึ่งมีลักษณะแผลที่คล้ายคลึงกัน
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแล
By Thirasak Chuchoet October 22, 2024
บั่วปมมะม่วง เป็นแมลงขนาดเล็กรูปร่างเหมือนยุง มีหนวดและขายาว ซึ่งพบได้บ่อยในมะม่วงที่ขาดการดูแลป้องกัน โดยเฉพาะช่วงออกดอก-ติดผล
More Posts