ไรศัตรูพืชมะพร้าวสร้างแผลเหวอะหวะ.!!
ไรศัตรูมะพร้าวน้ำหอม.. ภัยเงียบที่มองไม่เห็น

มะพร้าวน้ำหอม ถือเป็นอีกหนึ่งผลไม้เศรษฐกิจของประเทศไทยและเป็นผลไม้ที่มีความนิยมในตลาดโลก ทั้งตลาดบริโภคสดและแปรรูป เว็บไซด์ bangkoobiznews.com ระบุว่า ในปี 2563 มีการส่งมะพร้าวน้ำหอมส่งออกถึง 370 ล้านผล มีมูลค่ามากกว่า 8,000 ล้านบาท โดยมีคู่แข่งที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศจีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์
ตลาดส่งออกมะพร้าวน้ำหอมที่ดูสดใส จึงมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งดูจะสวนทางกับพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวกะทิที่ลดลง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทุกชนิด ราว 1.3 ล้านไร่ (ปี 2532 มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 2.59 ล้านไร่) เมื่อการเพาะปลูกมะพร้าวมีความต้องการมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ปัญหาศัตรูพืช โดยในช่วงที่ผ่านมาศัตรูพืชที่เป็นปัญหาหลักคงหนีไม่พ่น "หนอนหัวดำมะพร้าว"
ในช่วง 4-5 ปีมานี้ มะพร้าวกำลังมีศัตรูหน้าใหม่
"ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า" กว่าจะรู้ตัว เปลือกของผลมะพร้าวก็เสียหายเป็นแผลเหวอะหวะและที่สำคัญหากระบาดรุนแรงจะทำให้จั่นมะพร้าวไม่ติดผลหรือผลอ่อนร่วงหล่น ซึ่งเป็นผลมาจาก
"ไรศัตรูพืชเข้าทำลายผลอ่อนมะพร้าว"

"การเข้าทำลายของไรศัตรูพืชในระยะผลอ่อน จะพบรอยด่างขาวใกล้ขั้วผล"
ไรศัตรูมะพร้าว ที่เข้าทำลายผลมะพร้าว มี 3 ชนิด คือ
1. ไรสี่ขามะพร้าว (Coconut mite) ชื่อวิทยาศาสตร์: Aceria guerreronis (Keifer, 1965) อยู่ในวงศ์ไรสี่ขา (อีริโอไฟอิดี้ ; Eriophyidae) ลักษณะทั่วไปของไรสี่ขา คือ มีลำตัวคล้ายหนอน มีขา 2 คู่อยู่ด้านหน้า ตัวเล็กระดับไมครอนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีช่วงวงจรชีวิตราว 7-8 วัน
2. ไรสี่ขาโคโลเมรัส (New hebrides coconut mite) ชื่อวิทยาศาสตร์: Colomerus novahebridensis Keifer อยู่ในวงศ์ไรสี่ขา (อีริโอไฟอิดี้ ; Eriophyidae) เช่นเดียวกับไรสี่ขามะพร้าว มีช่วงวงจรชีวิตราว 7-8 วัน
3. ไรขาว เป็นคนละชนิดกับไรขาวพริกหรือไรขาวพริกที่พบทั่วไปในพืชอื่น มีชื่อวิทยาศาสตร์:
Steneotarsonemus furcatus DeLeon อยู่ในวงศ์ไรขาว (ทาร์โซเนมิดี้ ; Tarsonemidae) จึงมักมีชื่อเรียกไรขาวในกลุ่มนี้ว่า Tarsonemid mite ในบราซิลมีรายงานการเข้าทำลายข้าวทั้งใบและเมล็ดข้าว ส่วนไรขาวพริก จะมีชื่อเรียกว่า Broad mite (ชื่อวิทยาศาสตร์:
Polyphagotarsonemus latus)

"แผลที่เกิดจากไรสี่ขามะพร้าว (Coconut mite): เมื่อผลมีอายุมากขึ้นแผลจะมีขนาดใหญ่และมีร่องแผลลึก ปลายแผลด้านก้นผลจะเป็นรูปกระสวย"

"ไรสี่ขาโคโลเมรัส (New hebrides coconut mite): แผลมีขนาดกว้าง แต่ร่องแผลไม่ลึก ส่วนใหญ่แผลจะอยู่ค่อนมาทางก้นผล"

"ไรขาว Tarsonemid mite: แผลมีขนาดเล็กกว่าแผลที่เกิดจากไรสี่ขา ร่องแผลลึกและปลายแผลด้านก้นผลเป็นรูปปลายตัด"
ลักษณะการเข้าทำลาย
ไรศัตรูมะพร้าวที่เข้าทำลายผลจะเริ่มเข้าทำลายตั้งแต่เริ่มมีการติดผล ผลอ่อนและเข้าทำลายผลเกือบทุกผลในทะลาย บางครั้งพบว่าเข้าทำลายมะพร้าวตั้งแต่ระยะแทงจั่น ทำให้ดอกร่วงหล่น ไม่ติดผล ไรศัตรูมะพร้าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้กลีบเลี้ยงของผล แผลระยะแรกมองดูคล้ายอาการแดดเลียใกล้บริเวณกลีบเลี้ยง ต่อมาเมื่อผลขยายขนาดขึ้นจะเห็นเป็นแผลแตกเป็นริ้วสีน้ำตาล เป็นแผลร่องลึก หากเข้าทำลายระยะผลอ่อนรุนแรง จะทำให้ผลชะงักการเจริญ ผลเล็ก ขนาดไม่ตรงตามความต้องการของตลาด ถ้าระบาดรุนแรงจะทำให้ผลร่วงหล่นเสียหายและผลที่ไม่ร่วงจะเล็กลีบไม่ได้ขนาดจนไม่สามารถจำหน่ายได้

"ลักษณะใบมะพร้าวที่ถูกไรแมงมุมฟิจิหรือไรแมงมุมเทียมปาล์มเข้าทำลาย"
นอกจากนี้ยังมีไรศัตรูพืชมะพร้าว อีก 2 ชนิด ที่เข้าทำลายใบ คือ
1. ไรแมงมุมเทียมปาล์ม (Palm false spider mite) ชื่อวิทยาศาสตร์
Raoiella indica Hirst อยู่ในวงศ์ไรแมงมุมเทียม (ทีนุยพาลพิดี้ ; Tenuipalpidae) ไรศัตรูพืชในวงศ์นี้มีลักษณะคล้ายไรศัตรูพืชในวงศ์ไรแมงมุมหรือไรแดง แต่มีลำตัวแบนและขาสั้นมาก ไรแมงมุมเทียมปาล์มจะเข้าทำลายอยู่ใต้ใบมะพร้าว ปาล์ม และพืชตระกูลปาล์ม-มะพร้าว ทำให้หน้าใบเป็นจุดสีซีดจาง
2. ไรแมงมุมฟิจิ (Fiji spider mite หรือ palm spider mite) ชื่อวิทยาศาสตร์
Tetranychus fijiensis Hirst อยู่ในวงศ์ไรแมงมุมหรือไรแดง (เตตระไนชิดี้ ; Tetranychidae) ไรชนิดนี้เข้าทำลายใต้ใบเช่นเดียวกับไรแมงมุมเทียมปาล์ม แต่พบได้น้อยกว่าและมักสร้างเส้นใยบางๆ เล็กน้อย เพื่อปกป้องไข่
การป้องกันและกำจัด
1. พ่นสารกำจัดไรศัตรูพืชป้องกันระยะมะพร้าวแทงจั่นถึงระยะผลอ่อน (เว้นระยะดอกบาน) เช่น อะบาเม็คติน 1.8% หรือ 2.4% (สารกำจัดแมลง กลุ่ม 6) อัตรา 25-40 ซีซี. ร่วมกับ ไทอะมีทอกแซม 25% (สารกำจัดแมลง กลุ่ม 4A) อัตรา 10-15 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง ทุก 10 วัน แล้วสลับกลุ่มยา เช่น ไตรอะโซฟอส 40% หรือ โปรพีโนฟอส 50% (สารกำจัดแมลง กลุ่ม 1B) อัตรา 30 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร
2. หากพบร่องรอยการเข้าทำลายของไรศัตรูพืช ควรพ่นด้วยสารกำจัดไรศัตรูพืช เช่น
2.1 สารกำจัดไรศัตรูพืช กลุ่ม 21A ไดแก่ ไพริดาเบน 13.5% อัตรา 20-30 ซีซี. หรือ ไพริดาเบน 20% อัตรา 10-15 กรัม หรือเฟนไฟร็อกซิเมต 5% อัตรา 15-20 ซีซี. อัตราต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
2.2 สารกำจัดไรศัตรูพืช กลุ่ม 19 คือ อะมีทราซ 20% อัตรา 30-40 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร
2.3 สารกำจัดไรศัตรูพืช กลุ่ม 12 ได้แก่ โพรพาร์ไกต์ 20%, 57% (ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง อาจมีผลกระทบต่อดอก) หรือเฟนบูทาตินออกไซด์ 55% อัตรา 10 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นต้น
*หมายเหตุ: ไรศัตรูพืช มีทั้งหมดด้วยกัน 4 วงศ์ ดังนี้
1️. วงศ์ : ไรแดง หรือไรแมงมุม (Spider mite) ชื่อวงศ์เตตระไนชิดี้ (Tetranychidae)
2️. วงศ์ : ไรแมงมุมเทียม (False spider mite) ชื่อวงศ์ทีนุยพาลพิดี้ (Tenuipalpidae)
3️. วงศ์ : ไรขาว (Tarsonemid mite) ชื่อวงศ์ทาร์โซเนมิดี้ (Tarsonemidae)
4️. วงศ์ : ไรสี่ขา (Eriophyid mite) ชื่อวงศ์อีริโอไพอิดี้ (Eriophyidae)
แม้ไรศัตรูพืชจะอยู่คนละวงศ์แต่สารกำจัดไรส่วนใหญ่สามารถใช้ร่วมกันได้ ยกเว้นสารกำจัดไรศัตรูพืช กลุ่ม 10 มีความเฉพาะเจาะจงกับวงศ์ไรแดง และสารกำจัดแมลง กลุ่ม 2B มีความเฉพาะเจาะจงกับวงศ์ไรขาว
แหล่งสืบค้น:
เอกสารวิชาการ.2559.การจัดการศัตรูมะพร้าว.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร.หน้า 39-43.
กรุงเทพธุรกิจ.2564.“ส่งออก 'มะพร้าวน้ำหอม' พุ่ง 8 พันล้าน โตสวนโควิด-19”. กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย จำกัด.bangkokbiznews.26 กุมภาพันธ์ 2564.Web. 1 กันยายน 2564. <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/924716>
CABI. “Aceria guerreronis (coconut mite)”. CAB International. CABI. Web. Sep 1, 2021. <https://www.cabi.org/isc/datasheet/109195>
CABI. “Steneotarsonemus furcatus”. CAB International. CABI. Web. Sep 1, 2021. <https://www.cabi.org/isc/datasheet/51721>
Denise Navia, Marta A. S. Mendes and Ronald Oehoa.“STENEOTARSONEMUS FURCATUS DE LEON (PROSTIGMATA: TARSONEMIDAE) INFESTING RICE CROPS IN BRAZIL”. Intemat. J. Acarol. Vol. 32, No. 2..Mar 17, 2009.Page 219-222.
Pavinee Noochanapai and Angsumarn Chandrapatya.2024.Morphology and Biology of Phyllocoptes azadirachtae Chandrapatya ( : Eriophyidae).Agriculture and Natural Resources – formerly Kasetsart Journal (Natural Science), Volume 038, Issue 4, Oct 04-Dec 04.Page 475-483.
PEDRO DE LA TORRE, LERIDA ALMAGUEL, ELEAZAR BOTTA E IDALIA CACERES. “Plant Hosts of Steneotarsonemus furcatus de Leon (Acari: Tarsonemidae) in Cuba”. Neotropical Entomology 34(3): May-June 2005.Page 517-519.