ไขขี้ผึ้งบนตัวเพลี้ยแป้ง คืออะไร..?
ไขขี้ผึ้งบนตัวเพลี้ยแป้ง (Powdery wax layer) คืออะไร..?
หรือชั้นไขขี้ผึ้งบนลำตัวเพลี้ยหอย คือ อะไร.?

ผงสีขาวบนตัวเพลี้ยแป้ง หรือชั้นไขขี้ผึ้งบนตัวเพลี้ยหอย ถ้าลองสังเกตุหรือทดลองนำน้ำมาหยดบนตัวเพลี้ยเหล่าจะพบว่า น้ำไม่เกาะติดลำตัวเพลี้ยแป้ง-เพลี้ยหอย เช่นกัน หากผสมสารกำจัดแมลงที่ไม่ใช่สูตรน้ำมัน (สูตร EC, EW, ME ฯ) พ่นเพลี้ยเหล่านี้ มักพบว่า "ไม่ค่อยได้ผล-กำจัดเพลี้ยแป้ง-เพลี้ยหอยไม่ได้" แต่พอผสมสารกำจัดแมลงที่เป็นสูตรน้ำมันกับได้ผลดีกว่า
แต่หลายครั้งต่อให้เป็นสูตรน้ำมัน "ก็ไม่ได้ผลดังความคาดหมาย" เหตุก็เพราะว่า ปริมาณความเข้มข้นของเนื้อสารกำจัดแมลงเข้าสู่ชั้นผิวหนังและลำตัวของเพลี้ยได้น้อย.!! ในระยะแรกๆ สารกำจัดแมลงดังกล่าวที่เข้าสู่ตัวเพลี้ยอาจใช้กำจัดได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสารกำจัดแมลงที่เข้าสู่ตัวได้น้อยนิดนี้เพลี้ยสามารถสร้างความต้านทาน (ดื้อยา) ได้ง่าย ทั้งสารกำจัดแมลงบางกลุ่มยังส่งเสริมการแพร่ระบาดเพิ่ม ระบาดเร็วขึ้นและทวีจำนวนมากขึ้น เหตุการณ์นี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ หรือเป็นเพราะผู้ผลิตลดเปอร์เซ็นต์สารออกฤทธิ์หรือสารมีประสิทธิภาพลดลงโดยตัวสารเอง เพราะมีกฏหมายควบคุมอยู่.. (ยกเว้นยาที่จำหน่ายหลังร้าน ยาผีบอก และยาไม่มีทะเบียน)

เพลี้ยแป้งในผลน้อยหน่า
ไขขี้ผึ้งบนลำตัวเพลี้ย คือ อะไร.???
ไขขี้ผึ้ง (Powdery wax layer) คือ ชั้นไขขี้ผึ้งที่เกิดจากกระบวนการชีวสังเคราะห์ (biosynthesis) ของเพลี้ยแป้ง-เพลี้ยหอย รวมถึงแมลงหวี่ขาว เพลี้ยไก่แจ้หรือแมลงที่สร้างขึ้นมา โดยมีลิพิดเชิงซ้อน (lipid compound) เป็นโครงสร้างหลัก ซึ่งประกอบด้วย คิวติคูลาร์ไฮโดรคาร์บอน (cuticular hydrocarbons; CHCs), กรดไขมัน (fatty acid), เอสเทอร์ (esters), แอลกอฮอล์ (alcohols) และคีโทน10 (ketones10)
ในกระบวนการชีวสังเคราะห์ของเพลี้ยแป้ง-เพลี้ยหอย จะมียีน (gene) ที่ควบคุมการสังเคราะห์นี้ เรียกว่า “ยีน FARs (ยีนแฟทตี้เอซิล-โคเอ รีดักเทส; fatty acyl-CoA reductase gene)” ชนิดของยีน FARs ที่ได้รับการยืนยันแล้วมีถึง 17 ยีน เช่น PsFARs, PsFAR I, AmFAR1, EpFAR, DmWP เป็นต้น

เพลี้ยแป้งบนกิ่งกาแฟ
โดยในเพลี้ยแป้งฝ้าย (Cotton mealybug หรือ Solenopsis มีชื่อวิทยาศาสตร์: Phenacoccus solenopsis Tinsley) หรือชื่ออื่น เพลี้ยแป้งจุดดำ, เพลี้ยแป้งโซเลนอฟซีส พบว่า ยีนส์ PsFARs มีบทบาทมากที่สุดในการควบคุมกระบวนการชีวสังเคราะห์ "คิวติคูลาร์ไฮโดรคาร์บอน; CHCs" ซึ่ง CHCs เป็นตัวที่สร้างความแตกต่างของไขแป้งขี้ผึ้งในเพลี้ยแป้งแต่ละชนิดมากที่สุด
ลิพิด (lipid) ที่สร้างเป็นชั้นไขขี้ผึ้งมีคุณสมบัติเด่นประการหนึ่ง คือ ไม่ชอบน้ำ (hydrophobic) หรือน้ำเกาะได้น้อยนั้นเอง เนื่องจากเป็นสารชีวโมเลกุลที่ไม่มีประจุขั้ว ทำให้ลิพิดไม่ละลายน้ำ สามารถทดสอบได้โดยเทน้ำลงแก้วแล้วตามด้วยน้ำมันพืช ตั้งทิ้งไว้ 5-15 นาที จะเห็นว่า "น้ำมันพืชแยกชั้นกับน้ำ"
ด้วยคุณสมบัตินี้ จึงทำให้สารกำจัดแมลงและน้ำสัมผัสหรือเกาะตัวเพลี้ยฯ ได้น้อยหรือไม่ได้เลย เราจึงต้องหาสารอื่นมาช่วยให้สารกำจัดแมลงเกาะลำตัวเพลี้ยฯ ให้ดียิ่งขึ้น เช่น สารจับใบชนิดไม่มีขั้วประจุ หรือสารประกอบน้ำมัน เช่น ไวท์ออยล์ และพาราฟินออยล์ เป็นต้น

เพลี้ยหอยรัสเซลล์อาศัยอยู่ใต้ใบทุเรียน
แหล่งสืบค้น:
Tong, H., Wang, Y., Wang, S. et al. Fatty acyl-CoA reductase influences wax biosynthesis in the cotton mealybug, Phenacoccus solenopsis Tinsley. Commun Biol 5, 1108 (2022).